พญานาค
สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา
เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษได้
พญานาคนั้นมีลักษณะตัวเป็นงูตัวใหญ่มีหงอนสีทองและตาสีแดง เกล็ดเหมือนปลามีหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี บ้างก็มีสีเขียว บ้างก็มีสีดำ หรือบ้างก็มี7สี และที่สำคัญคือ
นาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ตระกูลที่สูงขึ้นไปนั้นจะมีสามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียรและเก้าเศียร นาคจำพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจาก พญาเศษนาคราช(อนันตนาคราช) ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุนารายณ์ปรมนาท ณ เกษียรสมุทร อนันตนาคราชนั้นเล่ากันว่ามีกายใหญ่โตมหึมามีความยาวไม่สิ้นสุด มีพันศีรษะ พญานาคนั้นมีทั้งเกิดในนำและบนบก เกิดจากครรภ์และจากไข่ สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษได้ มีอิทฤทธิ์จากการจำศีล บำเพ็ญภาวนา ศรัทธาในพุทธศาสนา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
พญานาค เป็นสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแปลงกายได้ พญานาค มีอิทธิฤทธิ์ และมีชีวิตใกล้กับคน พญานาค สามารถแปลงเป็นคนได้มักจะแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปร่างสวยงาม เช่นคราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า
พญานาค ถึงแม้จะเนรมิตกายเป็นอะไร แต่จะต้องปรากฏเป็นงูใหญ่เช่นเดิม ในสภาวะ 5 อย่าง คือ
ขณะเกิด
ขณะลอกคราบ
ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค
ขณะนอนหลับ โดยไม่มีสติ
ที่สำคัญ ตอนตาย ก็กลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม
พญานาค มีพิษร้าย สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง 64 ชนิด ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า สัตว์จำพวกงู แมงป่อง ตะขาบ คางคก มด ฯลฯ มีพิษได้ ซึ่งก็ด้วยเหตุที่ นาคคายพิษทิ้งไว้ แล้วพวกงูไปเลีย พวกที่มาถึงก่อนก็เอาไปมาก พวกมาทีหลัง เช่น แมงป่อง กับ มด ได้พิษน้อย แค่เอาหาง เอากันไปป้ายเศษพิษ จำพวกนี้จึงมีพิษน้อย และพญานาคต้องคายพิษทุก 15 วัน
นาคมีอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ฝนตกหรือไม่ตกก็ได้ ตลอดจนสามารถแปลงกายเป็นเมฆฝนได้ พญานาค...เป็นที่มาของแม่น้ำต่างๆ อันหมายถึงผู้รักษาพลังแห่งชีวิตทั้งหลาย
นาคยังเกี่ยวข้องกับน้ำในสวรรค์อีกด้วย คนโบราณเชื่อว่า สายรุ้ง กับ นาค เป็นอันเดียวกัน ที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ข้างหนึ่งของรุ้งจะดูดน้ำจากพื้นโลกขึ้นไปข้างบน เมื่อถึงจุดที่สูงสุดก็จะปล่อยน้ำลงมาเป็นฝนที่มีลำตัวของนาคเป็นท่อส่ง
เกี่ยวข้องกับคนไทย
เรามักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้เสมอ ในงาน จิตรกรรม ประติมากรรม และหัตถกรรม นาคเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะตามอาคารวัดต่างๆ หลังคาอาคารที่สร้างขึ้นสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถานบันศาสนสถาน ตามคตินิยมที่ว่า นาคยิ่งใหญ่คู่ควรกับสถาบันอันสูงส่ง เช่น นาคสะดุ้ง ที่ทอดลำตัวยาวตามบันได นาคลำยอง ที่ทำเป็นป้านลมหลังคาโบสถ์ ที่ต่อเชื่อมกับนาคสะดุ้ง นาคเบือน นาคจำลอง และนาคทันต์ คันทวยรูปพญานาค
พญานาคกับตำนานในพระพุทธศาสนา
ตามตำนาน พญานาค มีอยู่ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว ดังเช่น หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว ได้เสด็จไปตามเมืองต่างๆ เพื่อแสดงธรรมเทศนา มีครั้งหนึ่งได้เสด็จออกจากร่มไม้อธุปปาลนิโครธ ไปยังร่มไม้จิกชื่อ "มุจลินท์" ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ 7 วัน คราวเดียวกันนั้นมีฝนตกพรำๆ ประกอบไปด้วยลมหนาวตลอด 7 วัน ได้มีพญานาคชื่อ "มุจลินท์" เข้ามาวงด้วยขด 7 รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะป้องกันฝนตกและลมมิให้ถูกพระวรกาย หลังจากฝนหายแล้ว คลายขนดออก แปลงเพศเป็นมานพมายืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า
ความเชื่อดังกล่าวทำให้ชาวพุทธสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก แต่มักจะสร้างแบบพระนั่งบนตัวพญานาค ซึ่งดูเหมือนว่าเอาพญานาคเป็นบัลลังก์ เพื่อให้เกิดความสง่างาม และทำให้คิดว่า พญานาค คือผู้คุ้มครองพระศาสดา
พญานาค...สะพาน (สายรุ้ง) ที่เชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ โลกศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อที่ว่า พญานาค กับ รุ้ง เป็นอันเดียวกัน ก็คือสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์นั่นเอง
นาคสะดุ้ง...ที่ราวบันไดโบสถ์นั้นได้สร้างขึ้นตามความเชื่อถือ "บันไดนาค" ก็ด้วยความเชื่อดังกล่าว แม้ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ก็โดยบันไดแก้วมณีสีรุ้ง ที่เทวดาเนรมิตขึ้นและมีพญานาคจำนวน 2 ตน เอาหลังหนุนบันไดไว้
ความเชื่อของชาวฮินดู ก็ถือว่า นาคเป็นสะพานเชื่อมภาวะปกติ กับที่สถิตของเทพ ทางเดินสู่วิษณุโลก เช่น ปราสาทนครวัด จึงทำเป็น พญานาคราช ที่ทอดยาวรับมนุษย์ตัวเล็กๆ สู่โลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์
ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2540 ทหารแห่งกองทัพสหรัฐอเมริกา กับปลาน้ำลึกชื่อ oar fish ที่มักจะเข้าใจว่าเป็นพญานาค ภาพนี้ตีพิมพ์ซ้ำหลายต่อหลายครั้ง และยังพิมพ์เป็นโปสเตอร์ขนาดใหญ่วางขายทั่วไปในประเทศไทยและลาว
ขอบคุณภาพข้อมูล
ภาพจาก sawasdeenakhonphanom.com
แหล่งผลิต “งานปั้นประติมากรรม” ทุกชนิด